- จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย (Bảo Đại)
.
พระนามเดิมคือ เหงียน ฟุน วิ๋น ทวุย (Nguyễn Phúc Vĩnh Thụy) ประสูติในปี 1913 เป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวในจักรพรรดิขาย ดิ่ญ จักรพรรดิบ๋าว ดั่ยเป็นจักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของเวียดนาม พระองค์ครองราชย์ในปี 1925 ขณะที่มีพระชนมายุ 12 พรรษา พระองค์ได้รับการศึกษาจากฝรั่งเศส พระองค์ต้องกลับมาครองราชย์ในฐานะจักรพรรดิหลังจากพระราชบิดาสวรรคต จากนั้นเสด็จกลับฝรั่งเศสเพื่อศึกษาให้จบ จักรพรรดิบ๋าว ดั่ยทรงหลงรักในค่านิยมตะวันตก เช่น กีฬาตะวันตก การแข่งรถ การพนันและรวมถึงสาวๆฝรั่งเศสด้วย แต่พระองค์ต้องกลับมาสวมชุดคลุมโอรสสวรรค์ตามคติธรรมเนียมโบราณทำให้ทรงอึดอัดไม่น้อย และทรงมุ่งมั่นในการปฏิรูปประเทศและราชวงศ์ให้เป็นเหมือนตะวันตก
.
พระองค์ทรงยกเลิกการหมอบการคำนับ และหันมาสวมชุดแบบตะวันตก จากนั้นทรงยึดระบบภรรยาคนเดียว ทำให้ฝ่ายในของราชสำนักต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย มีแต่เพียงเหล่าไท้ฮองไทเฮา ฮองไทเฮาและพระสนมจากรัชกาลก่อนๆเท่านั้น เพราะทรงมองว่า “เหล่าสตรีผู้มีอำนาจในพระราชวัง” ทำให้เกิดการวางแผนและการต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์แบบในอดีต การปฏิรูปของพระองค์ถูกเรียกว่าเป็นการรัฐประหาร “พวกหัวเก่า” ในราชสำนัก และทรงจัดตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายชาตินิยมสมัยใหม่แทนที่พวกขุนนางแบบคติดั้งเดิม แต่พระองคืก็ทรงผิดหวังที่อำนาจของพวกฝรั่งเศสยังคงมีมากอยู่เพราะจักรพรรดิไม่มีอำนาจใดๆเลยในประเทศ ทำให้คณะรัฐมนตรีที่พระองค์ตั้งมาต้องลาออก หนึ่งในนั้นคือ โง ดิ่ญ เสี่ยม (Ngô Đình Diệm) ขุนนางคาทอลิกชาตินิยม จักรพรรดิหนุ่มใจสลาย พระองค์จึงไม่สนใจการเมืองอีกและทรงใช้เวลากับการล่าสัตว์ จากนั้นทรงอภิเษกสมรสกับ มารี แตเรซ เหงียน หู ถิ หลาน สาวงามคาทอลิกจากทางใต้และได้อภิเษกพระนางเป็น จักรพรรดินีนาม เฟือง
.
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลวิชีฝรั่งเศสได้รับอนุญาตจากญี่ปุ่นให้เข้ามายึดครองเวียดนามได้ พระองค์จึงหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่นในการสถาปนาเอกราชของเวียดนาม ในปี 1945 ญี่ปุ่นจึงก่อการรัฐประหารต่อทหารอาณานิคมฝรั่งเศสเพื่อประกาศเอกราชให้จักรวรรดิเวียดนาม และนำเวียดนามเข้าร่วมวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา แต่อำนาจของกองทัพญี่ปุ่นสูญสลายอย่างรวดเร็วจากการพ่ายแพ้สงคราม และฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ก่อการปฏิวัติในไม่กี่เดือนถัดมา โฮจิมินห์ประกาศเอกราชให้เวียดนามในฐานะประเทศคอมมิวนิสต์ จักรวรรดิเวียดนามจึงมีค่าแค่ในกระดาษ โฮจิมินห์ได้โน้มน้าวให้พระจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย สละราชบัลลังก์ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เพื่อเพิ่มพลังอำนาจให้เวียดมินห์ พระองค์ได้เป็น “ที่ปรึกษาสูงสุด” ให้กับเวียดนามเหนือของโฮจิมินห์ในฮานอย ที่ซึ่งเรียกร้องอิสรภาพในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 - .
แต่อิสรภาพของเวียดนามโดนเพิกถอนจากฝรั่งเศสในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1946 และฝรั่งเศสเข้ามาอีกครั้ง ต่อมาเกิดการเจรจาสันติภาพในปี ค.ศ. 1954 ระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ในการประชุมที่เจนีวา ค.ศ. 1954 ทำให้มีการแบ่งแยกเวียดนามออกเป็นสองส่วนตามแบบเกาหลีคือ รัฐบาลบริหารเวียดนาม “ตอนเหนือ” และรัฐบาลบริหารเวียดนาม “ตอนใต้” พระจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย เดินทางไปพำนักที่ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีพระยศใหม่คือประมุขแห่งรัฐเวียดนาม ทรงแต่งตั้งนักชาตินิยมคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก คือ โง ดิ่ญ เสี่ยมเป็นนายกรัฐมนตรี โง ดิ่ญ เสี่ยม เคยเป็นอดีตข้าราชการในราชสำนักเว้ และเคยรับใช้จักรพรรดิบ๋าว ดั่ยในฐานะเสนาบดีระยะสั้นๆ แต่ในกรณีส่วนตัวจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย ไม่โปรดเสี่ยม เพราะมีแนวคิดแบบสาธารณรัฐ พระองค์วิพากษ์วิจารณ์เสี่ยมบ่อยครั้ง หลังจากเกิดความขัดแย้งทางอำนาจกันระหว่างจักรพรรดิและนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีโง เริ่มพยายามปลุกระดมให้เกิดการต่อต้านจักรพรรดิทั้งๆที่ ยังมีภัยสงครามกับคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนืออยู่ แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะอเมริกาหนุนเสี่ยมอย่างมาก
.
จักรพรรดิบ๋าว ดั่ยทรงทราบถึงความไม่ลงรอยนี้ พระองค์พยายามหาทางโค่นอำนาจนายกรัฐมนตรี ทรงพยายามก่อการรัฐประหารโดยร่วมมือกับนายพลเหงียน ฟั่น หินห์ (Nguyễn Văn Hinh) เป็นนายทหารผู้จงรักภักดีต่อจักรพรรดิและเกลียดชังโง ดิ่ญ เสี่ยม แต่รัฐประหารล้มเหลว นายพลหินห์ต้องลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส ความพยายามรัฐประหารครั้งนี้ทำให้รัฐสภาเวียดนามใต้ใช้เรื่องนี้เป็นเหตุที่ว่าจักรพรรดิพยายามล้มรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นจักรพรรดิทรงประทับอยู่ที่ฝรั่งเศสทรงใช้ความพยายามครั้งสุดท้ายในการกำจัดนายกรัฐมนตรีโง พระองค์ทรงมีคำสั่งให้เขาเดินทางมาพบพระองค์ที่ฝรั่งเศส แต่ก็สายไปเสียแล้ว นายกรัฐมนตรีโง ดิ่ญ เสี่ยม ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา ที่ส่งพันเอกเอ็ดเวิร์ด ลานสเดล (Edward Lansdale) เข้ามาช่วยการจัดทำลงประชามติในปี 1955 เพื่อกำจัดจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย และจัดตั้งสาธารณรัฐเวียดนาม นายกรัฐมนตรีจัดการลงประชามติในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1955 และผลคือ เลือกระบอบกษัตริย์ 1.09% ส่วนเลือกสาธารณรัฐเป็น 98.91%
.
การทำประชามติของโง ดิ่ญ เสี่ยม นั้นทำเกิดข้อกังขาถึงการทุจริตในการลงประชามติ เนื่องจากเขาในฐานะนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องของสถาบันกษัตริย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ยุบเลิกพระจักรพรรดิ โง ดิ่ญ เสี่ยมปราศรัยโจมตีสถาบันจักรพรรดิเวียดนามในการประชุมรัฐสภา และต่อหน้าประชาชนในการออกอากาศตามวิทยุ เขานำเรื่องเสื่อมเสียของราชวงศ์ขึ้นมาโจมตี ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการสู้รบกับฝรั่งเศสของอดีตจักรพรรดิราชวงศ์เหงียน และการเข้าหาฝรั่งเศสอย่างมหามิตรของจักรพรรดิด่ง คั้ญ จักรพรรดิขาย ดิ่ญ และจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย เอง รวมถึงความฉ้อฉลของราชสำนักฝ่ายในที่เข้ามาก้าวก่ายในราชกิจจนทำให้เกิดความวุ่นวายในราชบัลลังก์ในช่วงที่ต้องสู้รบกับฝรั่งเศส และเรื่องสำคัญที่ถูกมาตีแผ่คือ เรื่องพระชนม์ชีพส่วนพระองค์ของจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย ที่ถูกนำมาปราศรัยจนเป็นเรื่องชวนหัว ซึ่งผู้สนับสนุนสถาบันจักรพรรดิไม่สามารถแก้ต่างได้ เนื่องจากโง ดิ่ญ เสี่ยมได้ออกกฎหมายคัดค้านการรณรงค์เพื่อสนับสนุนอดีตจักรพรรดิ วันที่ 23 ตุลาคม 1955 การลงประชามติเป็นที่โจษจันกันอย่างกว้างขวางว่ามีการโกงเกิดขึ้น โดยผลการลงประชามติกลับลงความเห็นว่าร้อยละ 98 ควรเป็นสาธารณรัฐ เมื่อผลการเลือกตั้งถูกเปิดเผยขึ้น ปรากฏว่าผลการเลือกตั้งนั้น ผู้ลงคะแนนออกเสียงให้เป็นสาธารณรัฐมีมากกว่าผู้มีสิทธิลงคะแนน 380,000 คน อันเป็นสัญญาณอย่างชัดเจนว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น
.
มีการตีความว่าที่ประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยมต้องรีบเร่งดำเนินการเช่นนี้ เนื่องจากสถานะทางการเมืองของเขากำลังถูกคุกคาม ในตอนแรกมีความเป็นไปได้ที่ เสี่ยมเองจะฟื้นฟูราชวงศ์ภายใต้ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญหลังจากปลดบ๋าว ดั่ย เพราะมีการเสนอให้ตั้งมกุฎราชกุมารบ๋าว ลอง (Bao Long) พระโอรสขึ้นครองราชย์แทน แต่เมื่อนโยบายของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) ของสหรัฐอเมริกา เริ่มหันมาต่อต้านการทำงานที่ประนีประนอมของเสี่ยม เสี่ยมจึงเริ่มนโยบายที่แข็งกร้าวขึ้น เพื่อให้สหรัฐอเมริกามองว่ามีจุดมุ่งมั่นในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดีเสี่ยมถูกมองว่าเป็นผู้ทรยศต่อราชวงศ์ แต่ในมุมของแอดมินเองมองว่าถ้าเราอยู่ในสถานะเดียวกับโง ดิ่ญ เสี่ยม เราก็ต้องหาทางเพื่อให้ตำแหน่งของเราอยู่รอด เพื่อให้สหรัฐอเมริกาไว้เนื้อเชื่อใจเหมือนเดิม และต่อจากนี้ประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยมยินดีจะร่วมกับสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ในการรบกับคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ
.
จักรพรรดิบ๋าว ดั่ยประท้วงแต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะสหรัฐอเมริกาไม่ชอบพระองค์ ซึ่งการพ่ายแพ้นี้ถือเป็นจุดจบชีวิตทางการเมืองของพระองค์และเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบจักรพรรดิในเวียดนามด้วย การลี้ภัยไปฝรั่งเศส เป็นช่วงที่ทำให้อดีตจักรพรรดิบ๋าว ดั่ยและพระมเหสีต้องบาดหมาง เนื่องจากฐานะทางการเงินไม่สู้ดีนัก อดีตจักรพรรดิบ๋าว ดั่ยทรงเป็นผู้ที่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยจนมีหนี้สิน แต่ก็ได้เงินจากผู้สนับสนุนมาเป็นจำนวนมาก ทรงพยายามสร้างอิทธิพลทางการเมืองอยู่เสมอทั้งในเวียดนาม และฝรั่งเศส แต่ถึงกระนั้นก็ยังทรงไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเวียดนาม อดีตจักรพรรดินีนาม เฟืองทรงทนไม่ไหวต่อพฤติกรรมของพระสวามี ที่ทรงมีพระชายาลับเป็นจำนวนมาก และด้วยความเครียดด้านการเงินในครัวเรือนของครอบครัว ที่พระราชโอรสและธิดาทั้งห้าต้องได้รับการศึกษาในฝรั่งเศส และพระราชทรัพย์ของราชวงศ์เหงียนในเวียดนามถูกริบทรัพย์โดยรัฐบาลสาธารณรัฐของเสี่ยม ทำให้ทั้งสองพระองค์ทะเลาะเบาะแว้งกันรุนแรงหลายครั้ง จนในที่สุดพระนางขอแยกทางกับพระองค์ในปีค.ศ. 1955 ซึ่งเป็นปีเดียวหลังที่ถูกขับจากตำแหน่งประมุขแห่งเวียดนามใต้ อดีตจักรพรรดินีนาม เฟืองแยกมาประทับที่จังหวัดกอแรซ แคว้นนูแวลากีแตนในประเทศฝรั่งเศส โดยมีพระโอรสธิดาเสด็จมาเยี่ยมเยือนบ่อยครั้ง แต่ในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1963 พระนางสิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา พระศพถูกฝังที่สุสานท้องถิ่น ไม่ใช่สุสานหลวงราชสำนักเว้ ตามโบราณราชประเพณี พระนางทรงเป็นฮองเฮา หรือ จักรพรรดินีองค์สุดท้ายแห่งเวียดนาม อดีตจักรพรรดิทรงเสกสมรสใหม่กับชาวฝรั่งเศส บ๋าว ดั่ยทรงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์และสวรรคตในปารีส ปีค.ศ. 1997 สิริพระชนมายุ 83 พรรษา
.
